วิธีสอนลูกให้รู้จักเข้าอกเข้าใจคนอื่น
โลกยุคสมัยใหม่ที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบและเต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขัน เหมือนกับว่าคนที่ต้องดีที่สุดเท่านั้นถึงจะมีชีวิตรอด ดังนั้นพ่อแม่หลายคนจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกของตัวเองเก่ง ฉลาด และมีต้นทุนชีวิตที่ดีเหนือกว่าคนอื่น ๆ จนบ่อยครั้งเด็กยุคใหม่เรียนรู้การเอาตัวรอดแต่กลับมองข้ามการเข้าอกเข้าใจคนอื่น กลายเป็นคนเก่งแต่เห็นแก่ตัวในที่สุด
ทั้งที่จริง ๆ แล้ว มีงานวิจัยออกมามากมายว่าการประสบความสำเร็จในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง นอกจากจะต้องมีความฉลาดทางสติปัญญาแล้ว ยังต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ ที่ดี ซึ่งหนึ่งในลักษณะของเด็ก EQ ดีก็คือจะต้องมีทักษะการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น
การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น หรือ Empathy หมายถึง การเห็นใจและรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่สงสารแต่เป็นการเข้าใจถึงขั้นว่าถ้าเราเป็นเขา เราจะรู้สึกเช่นไร นั่นจึงเป็นความรู้สึกที่ลึกซึ้งมากกว่า และเมื่อลูกเป็นเด็กที่มี Empathy ก็จะทำให้มีโอกาสอยู่ร่วมกับผู้คนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจต่อคนรอบข้างมากกว่าจะตั้งตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล
วิธีสอนลูกให้รู้จักเข้าอกเข้าใจคนอื่น
1. เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก โดยการเข้าใจลูกมากกว่ายึดความต้องการของตัวเองเป็นหลัก
2. รับฟังลูกด้วยความจริงใจ เปิดโอกาสให้ลูกพูดระบายโดยไม่ตำหนิหรือตัดสินถูกผิดทำหน้าที่ฟังเพื่อเข้าใจว่าลูกรู้สึกอย่างไร
3. สอนให้ลูกเรียกชื่ออารมณ์ความรู้สึกให้เป็น เช่น โกรธ ชอบ สนุก เศร้า เพราะเมื่อเด็กเข้าใจตัวเอง จะทำให้เข้าใจคนอื่นง่ายขึ้น สำหรับเด็กเล็กหากยังบอกไม่ได้ว่ารู้สึกอย่างไร อาจทำภาพสีหน้าต่าง ๆ ให้ลูกชี้ว่ารู้สึกตรงกับภาพใด และสอนให้ลูกรู้ว่าหน้าตาแบบนี้เรียกว่าอารมณ์อะไร
4. สอนให้ลูกรู้จักสังเกตอารมณ์ความรู้สึกคนอื่น ด้วยความถามว่า..“ลูกคิดว่าเขารู้สึกอย่างไร….ถ้าเป็นหนูจะรู้สึกอย่างไร” จากสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน หรือเมื่อดูสื่อโทรทัศน์ จากการเล่านิทาน เป็นต้น
5. สอนให้ลูกช่วยเหลือคนอื่นจากใจ เช่น การแบ่งปันของเล่นให้เพื่อน การมีน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อคนรอบข้าง ฯลฯ และพ่อแม่เองก็ควรชื่นชมทุกครั้งที่ลูกช่วยเหลือคนอื่นเพื่อส่งเสริมให้ทำพฤติกรรมเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
6. สอนให้ลูกรู้จักความเปลี่ยนแปลงและความยืดหยุ่น บางสิ่งบางอย่างไม่สามารถเป็นไปอย่างที่ลูกคิดหรือคาดหวังได้ตลอดเวลา การสอนให้เด็กยอมรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถยืดหยุ่นให้ได้แม้ไม่เป็นไปตามความตั้งใจ โดยการพูดคำว่า “ไม่เป็นไร ลองใหม่ได้นะลูก” “ถ้าทำวิธีนี้ไม่ได้ ลองทำแบบใหม่ดูไหมลูก” เพื่อให้ลูกคิดหาวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและลดการตำหนิตัวเอง
# 5 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนเลือกโรงเรียนให้ลูก ไม่อยากเลือกพลาดต้องอ่าน
แฟชั่น
Cyberbullying การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ และทักษะที่ควรรับมือ
เปิด 5 เมืองน่าเรียนต่อในออสเตรเลีย
อาการ Long Covid หลังหายป่วยจากโควิด และผลกระทบที่ตามมา